Visual arts - ศิลปินแนวตลาด ควรยกย่องหรือเหยียบย่ำ โดย อำนาจ เย็นสบาย ในความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมไทยที่มีมาโดยตลอดนั้น หากเราจะลองเพ่งมองไปยังคนกลุ่มหนึ่งที่ทำงานสร้างสรรค์ศิลปะ เราก็จะพบการดำรงชีวิต แนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน ต่างล้วนมีความเกี่ยวข้องผูกพันกับสภาพความผันแปรของสังคมมาโดยตลอด และท่ามกลางความผันแปรนั้น คนกลุ่มนี้หรือศิลปินกลุ่มนี้ก็ยังมีความแตกต่างกันเองในรายละเอียดอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งในเรื่องการเลือกวิถีทางการดำเนินชีวิต อุดมคติในการทำงานสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งในความแตกต่างเหล่านี้ มีกลุ่มศิลปินกลุ่มหนึ่งได้แตกแถวออกมาทำงานประเภทที่ถูกเรียกว่างานแนวตลาดหรืองานพาณิชย์ศิลป์และมักจะถูกกีดกันออกมาจากวงการศิลปะแนวการสร้างสรรค์ ถูกเหยียบย่ำหมิ่นแคลนจากคนในวงการเดียวกัน ครับ เรื่องนี้นับเป็นเรื่องที่ควรจะมีการศึกษาและทำความเข้าใจกันอีกสักครั้งหนึ่ง ภายหลังความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พ.ศ. 2475 ฐานะของผู้ประกอบงานศิลปะที่เคยอยู่ในลักษณะอุปถัมภ์ กึ่งอุปถัมภ์ได้ก้าวมาสู่สถานะอันใหม่ และในสถานะอันใหม่ในช่วงแรก งานประเภทแนวตลาดในระบบธุรกิจสมัยใหม่ยังไม่เกิดขึ้น ที่ไม่เกิดขึ้นก็เพราะสภาพความจำกัดของสภาพสิ่งแวดล้อมด้านต่าง ๆ ในสังคม เพราะแนวคิดของผู้สร้างสรรค์งาน อันประจวบเหมาะกับบทบาทของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งมีประสบการณ์พบเห็นความตกต่ำของศิลปะเพื่อการค้าในยุโรป จึงเสนอแนวคิดเหล่านี้ออกมา และมีผลสะท้อนทางความคิดต่อบรรดาศิลปินอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม เมื่อสภาพของสังคมไทยคลี่คลายต่อมาถึงช่วงระยะหนึ่ง คือประมาณตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ความชัดเจนของศิลปะแนวตลาด ความชัดเจนของธุรกิจเอกชนที่เข้ามาดำเนินงานทางด้านศิลปะในรูปของแกลเลอรี่ก็เกิดขึ้น และข้อที่น่าสังเกตที่ไม่ควรผ่านเลยไปก็คือ ยุคแห่งความเฟื่องฟู ยุคแห่งการเกิดแกลเลอรี่นั้น ร่วมสมัยกับการมีหน่วยงานระหว่างประเทศเข้ามาก่อตั้งในประเทศไทยมากขึ้น และร่วมสมัยกับสหรัฐอเมริกาส่งทหาร-อาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งนักธุรกิจผู้มีสายตามองการณ์ไกลเห็นช่องทางความเป็นไปได้ และศิลปินผู้มีประสบการณ์จากต่างประเทศต่างก็เพ่งมองไปยังผู้มาใหม่เป็นเป้าสำคัญ นับแต่นั้น บางกะปิแกลเลอรี่ ราชาแกลเลอรี่ อาลิซาเบทแกลเลอรี่ แกลเลอรี่ 20 ฯลฯ ต่างก็เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในรูปของสถานที่แสดงผลงานศิลปะเอกชน พร้อมกับการจัดจำหน่ายตามระบบธุรกิจสมัยใหม่ โดยในระยะแรกๆนั้น แนวโน้มของผลงานที่จัดแสดง ที่จัดจำหน่าย ศิลปินพยายามคงไว้ซึ่งอุดมคติความเป็นตัวของตัวเอง และศิลปินเหล่านั้นก็มีทั้งกลุ่มศิลปินอิสระ ตลอดจนศิลปินจากรั้วสถาบันการสอนศิลปะสถาบันต่างๆ สำหรับกลุ่มเป้าหมายของแกลเลอรี่ของศิลปินต่างพุ่งเป้าไปยังชาวต่างประเทศเป็นด้านหลัก โดยมีคนไทยเป็นเป้าหมายรอง ยกเว้นกลุ่มคนไทยที่มีฐานะและมีความสนใจเรื่องศิลปะ แต่ท่ามกลางการแข่งขันของกลุ่มนักธุรกิจ การเผชิญหน้ากับปัญหาเศรษฐกิจของผู้ประกอบอาชีพศิลปิน การแข่งขันการสร้างสรรค์ผลงาน การรวมตัวเป็นกลุ่มพวก ศิลปินผู้สร้างงานศิลปะก็แตกความคิดออกไปหลายแนว แนวหนึ่งพยายามคงไว้ซึ่งอุดมคติ ความเป็นตัวของตัวเอง อีกแนวหนึ่งสร้างงานตามกระแสตลาดต้องการ และอีกแนวหนึ่งพยายามที่จะทำงาน 2 ด้านนี้พร้อมๆ กันไป ซึ่งสภาพดังกล่าวได้ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นหลายประการ เช่น ในหมู่ศิลปินด้วยกันเอง เกิดการแบ่งกลุ่ม แบ่งระดับ แบ่งความสูงต่ำระหว่างศิลปินผู้ทำงานโดยยึดอุดมคติ กับศิลปินผู้ทำงานโดยยึดถือตลาดหรือความต้องการของผู้ซื้อของแกลเลอรี่ ภายในตัวของศิลปินผู้พยายามจะยึดถืองานศิลปะเป็นอาชีพ แต่พื้นฐานทางเศรษฐกิจไม่ดีนักก็เกิดความขัดแย้งขึ้นภายในใจ อยากจะเลือกแนวทางการทำงานแบบร่วมสมัย งานก็ขายไม่ได้หรือได้ก็น้อย อยากจะเลือกแนวทางตลาดที่พอขายได้เงินก็ติดขัดที่รู้สึกสูญเสียวิญญาณแห่งการเป็นศิลปิน ในระบบธุรกิจก็เกิดความขัดแย้งระหว่างแกลเลอรี่กับศิลปินแนวอุดมคติที่ไม่ยอมทำงานตามที่แกลเลอรี่ต้องการ กับศิลปินผู้ยากไร้แต่งานขายได้แกลเลอรี่บางแห่งก็ใช้วิธีการตกข้าวเขียว จ่ายเงินก่อน แต่มีสัญญาผูกขาดกับผลงาน กำหนดแนวทางในการทำงาน ตลอดจนการซื้อถูกขายแพง และการใช้เล่ห์เหลี่ยมสารพัดมุมของบางแกลเลอรี่ ในหมู่ศิลปิน ศิลปินบางคนก็ปรับตัวพัฒนาการทำงานของตัวเองไปไม่น้อย การเขียนรูปเป็นชุดเรียงแถวคราวละหลายรูป การช่วงชิงตัดราคากันเอง การลอกเลียนแนวทางการทำงานของเพื่อน จนเกิดความบาดหมางใจกันไปก็หลายคู่ศิลปิน เหล่านี้คือ สิ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางการดำเนินงานทางธุรกิจลงทุนที่เข้ามามีบทบาทในวงการศิลปะ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะยอมรับว่าการเข้ามามีอิทธิพลของธุรกิจ จะมีส่วนทำลายความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน จะมีส่วนทำลายความเป็นมนุษย์ ทำลายสัมพันธภาพระหว่างเพื่อนมนุษย์ สร้างบาดแผล ประทับรอยแห่งความเจ็บปวดให้กับศิลปินบางคน แต่ในอีกมุมหนึ่งระบบธุรกิจดังกล่าวก็เป็นแหล่งระบายผลงานสู่คนในหมู่กว้าง เปิดช่องทางให้เอกชนมีโอกาสเป็นเจ้าของผลงาน ที่เหมาะสมกับคนหลายระดับ เปิดโอกาสให้คนทั่วไปเลือกแนวทางผลงานหลากหลายขึ้น ถึงกระนั้น ศิลปินจำนวนหนึ่งที่ทนไม่ได้กับระบบนี้ ก็พยายามดิ้นรนหนีระบบด้วยการก่อตั้งดำเนินการด้วยตนเอง ด้วยการพึ่งพิงบุคคลที่มีฐานะ มีความเข้าใจ แต่ผลสุดท้ายก็จบลงด้วยความล้มเหลว ด้วยตัวของเขาเองเอาดีทางศิลปะได้ แต่มิอาจเอาดีทางธุรกิจได้ ก็ยังโชคดีที่ศิลปินกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการเป็นครูอาจารย์อยู่ตามสถาบันการศึกษาตามมหาวิทยาลัยจึงไม่ถึงกับเดือดร้อนในเรื่องของความมีชีวิตอยู่รอดนัก ซึ่งผิดกับศิลปินกลุ่มอิสระ หรือกลุ่มที่พยายามยึดถือการสร้างงานศิลปะเป็นอาชีพ หรืองานแห่งความรักนอกเหนือจากงานอาชีพหลักที่ต้องเผชิญกับความซับซ้อนในระบบธุรกิจต่อไป แน่นอน เมื่อเราหวนกลับมาพิจารณาผลงานของศิลปินที่ถูกกล่าวหาว่าทำงานพาณิชย์ศิลป์ ทำงานแนวตลาด และประสบความสำเร็จจากตลาดอีกครั้ง เราก็จะพบว่ามีเรื่องที่น่าศึกษาพิจารณาอีกหลายแง่มุม โดยเฉพาะงานของศิลปินกลุ่มหนึ่งที่อาจารย์บุญถึง ฤทธิ์เกิด ได้เขียนบันทึกไว้ในเอกสารโครงการศิลปพเนจรตอนที่หนึ่งว่า " ศิลปิน … จะอยู่ให้ได้ ก็จะต้องเขียนให้เหมือนธรรมชาติให้ได้มากที่สุด ซึ่งตรงกับยุค โรแมนติกและเรียลิสติกของฝรั่ง ที่แกลเลอรี่รับซื้ออยู่ขณะนี้ขายรูปได้เฉพาะภาพวิว และดอกไม้ … ศิลปินเขียนภาพให้แกลเลอรี่เด่น ๆ ขณะนี้ก็มี ม.ล. ปุ่ม มาลากุล ( ถึงแก่กรรมแล้ว) ที่ยังมีชีวิตก็คือ คิด โกศัลวัฒน์ , เฉลิม นาคีรักษ์ , นพรัตน์ ลิวิสิทธิ์ , สะอาด ถนอมวงศ์ , อวบ สาณะเสณ ฯลฯ" กล่าวเฉพาะศิลปินกลุ่มอาจารย์ บุญถึง ฤทธิ์เกิด กล่าวมา แม้ลึกๆ จะถูกศิลปินบางคนมองด้วยนัยทางลบ กล่าวพาดพิงอย่างอคติ หรือกลายเป็นศิลปินที่มีมลทินที่วงการศิลปะอันศักดิ์สิทธิ์สูงส่งปฏิเสธ เรากลับมีความเห็นว่า ท่านเหล่านั้นแม้จะเกี่ยวข้องกับระบบธุรกิจ อีกทั้งที่จะนำไปเปรียบเทียบกับศิลปินบางกลุ่มแล้ว ก็ไม่มีอะไรแตกต่างกันมากนัก เนื่องจากทุกวันนี้วงการธุรกิจได้เข้ามามีบทบาทอย่างสูงต่อวงการศิลปะแล้ว ข่าวเกี่ยวกับแหล่งเงินทุนระดับสูงบางแห่งเป็นผู้มีบทบาทในการกำหนดนโยบายในการประเมินค่าหรือความซับซ้อนในวงการศิลปะที่ทำให้ศิลปินสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองก็ยังมีอีกมากถ้าจะกล่าวถึง ในวงการศิลปะทุกวันนี้ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรจะมีทรรศนะเปิดกว้างต่อการศึกษาวิถีชีวิต แนวทางการทำงานของศิลปินกลุ่มต่างๆ อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีบทบาทต่อหมู่คนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่อาจารย์บุญถึง ฤทธิ์เกิด กล่าวมา หรือบุคคลอื่นๆ ที่มีผลงานครองใจหมู่คนที่สนใจงานศิลปะในขอบเขตที่ก้าวพ้นไปจากคนกลุ่มน้อย หรือผู้เชี่ยวชาญทางศิลปะเพียงไม่กี่คน ศิลปินนั้นควรจะรู้จักเคารพความคิดของผู้อื่น โดยไม่จำเป็นว่าเราจะต้องมีความเห็นด้วย และศิลปิน-นักวิจารณ์นั้นควรจะหวงแหนสิทธิในการวิจารณ์งาน แต่ทั้งนี้ก็ควรจะมีมนุษยธรรมเพียงพอ โดยไม่ควรจะก้าวพ้นขอบเขตของการวิจารณ์ผลงานจนกลายเป็นการเหยียดหยามเพื่อนมนุษย์ ที่มา: อำนาจ เย็นสบาย. "ศิลปินแนวตลาดควรยกย่องหรือเหยียบย่ำ" สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 30 ฉบับที่ 6 ( กรกฎาคม 2526). หน้า 29-31 สนใจดูภาพ หรือบทความอื่น ๆ ได้ที่ http://www.hasartgallery.blogspot.com/ http://www.hasartgallery.webs.com/ http://www.thaitechno.net/t1/home.php?uid=38330 |
Visual arts - ศิลปินแนวตลาด ควรยกย่องหรือเหยียบย่ำ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น