ตำนานตระกูลชิน ฉบับตีความ (1-2)
ตอน: คูชุ่นเส็งวัยหนุ่ม ประวัติที่ (จงใจ) หายไป
ต้นตระกูลชินวัตรเคยอยู่เมืองจันทบุรี แซ่คู ตามประวัติบอกว่าชื่อ คูชุ่นเส็ง (จีนแคะ-ฮากกา) ขึ้นบกมาแต่สมัยปลาย ร.4 ต้น ร.5 โน่นเลย แต่เป็นพ.ศ.ไหนไม่ชัด
พวกแคะ หรือฮากกานี่อยู่ทางตะวันออกของกวางตุ้งตะวันตกของฟูเจี้ยน ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ดินแดนกวางตุ้งละแวกนั้นวุ่นวายพอดูเพราะเป็นช่วงสุดท้ายของราชวงศ์ชิง (ผมเปียยาวๆ แบบในหนังนั่นล่ะ) มีสงครามฝิ่นกับอังกฤษ ต่อด้วยความไม่สงบภายใน กบฏซินไห่ กบฏไท่ผิง ซุนยัดเซ็นก็กำลังเคลื่อนไหวปฏิวัติโค่นล้มเดินสายหาทุนกับชาวจีนโพ้นทะเลแถวเยาวราช ปีนัง สิงคโปร์ บรรยากาศเมืองจีนเป็นสงครามกลางเมือง นี่คงเป็นมีส่วนเป็นแรงผลักให้ตระกูลคูอพยพมา
แซ่คูนี่เป็นแซ่เฉพาะของพวกฮากกา จีนกลุ่มอื่นไม่มีแซ่นี้ คำถามคือ แซ่คู เมื่อเปลี่ยนเป็นไทยไม่เปลี่ยนเป็นนามสกุลให้มีคำว่า คู เช่น คูนะวัตร สาคูสกุล หรืออะไร คูๆ ซะล่ะ อันนี้มีคำอธิบายตามหลักภาษา
"แซ่คู" เป็นการเรียกตามสำเนียงแต้จิ๋วหากเป็นสำเนียงจีนกลางใช้ "แซ่ชิว"
"ชิว" เป็นคำจีนกลาง คนตั้งนามสกุลคงจะใช้รากศัพท์คำนี้มาแปลงเป็นแขกเพื่อให้ไฮโซมโหระทึกขึ้น....
แปลงไปแปลงมาได้เป็น ชินวัตร !
อันนี้ต้องยกนิ้วให้เพราะตั้งได้ดี กล่าวคือมีพยางค์ “ชิ” บวกกับ “วะ” อันเป็นของเดิมซ่อนอยู่ในเครื่องทรงใหม่แบบแขกบาลี ฟังดูแหมผู้ดีมีตระกูลไม่เหลือเค้าเดิม
ซึ่งต้องยกความดีให้กับลุงของทักษิณคือ พ.อ.พิเศษ ศักดิ์ ชินวัตร ซึ่งรับราชการเป็นทหารและมีลูกชายเป็นทหารสืบต่อ (อุทัย ชัยสิทธิ์) แล้วก็เป็นคนตัวตั้งตัวตีเปลี่ยนนามสกุลแซ่คูให้คนในตระกูลเปลี่ยนมาใช้ตามทั้งหมด
คูชุ่นเส็ง อพยพครอบครัวจากเมืองจันทน์ไปถึงเชียงใหม่เมื่อพ.ศ. 2451 ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 อันนี้ชัดเจนเพราะเป็นบันทึกจากปากคำของนายเชียง ลูกชายนายเส็งเป็นหลักฐานที่เชื่อได้ แต่เรื่องมาอยู่เมืองไทยเมื่อไหร่ เกิดที่ไทย หรือเกิดกวางตุ้งอันนี้ไม่ชัดเจน
ตอนที่ทักษิณเรืองอำนาจเขามีความกระหายใคร่รู้ว่าต้นตระกูลของตนเป็นมายังไง บ้านเดิมอยู่ไหน หลุมศพของบรรพบุรุษที่เมืองจีนอยู่ตรงไหน ขนาดขอประสานกับรัฐบาลจีนเพื่อช่วยสืบหา “ร่องรอยบรรพบุรุษ” ให้
แรงขับอย่างหนึ่งของเขาก็เพราะในทศวรรษก่อนหน้าบรรดาผู้นำของโลกหลายคนมีเชื้อสายฮากกา-จีนแคะกันโดยไม่ได้นัดหมาย เติ้งเสี่ยวผิง ลีกวนยิว เฉียนสุ่ยเปียน คนพวกนี้สามารถสืบหารอยบรรพบุรุษได้
รัฐบาลจีนใช้กลไกที่มีอยู่พลิกแผ่นดินกวางตุ้ง - ฟูเจี้ยน เพื่อหาร่องรอยของ คูชุ่นเส็ง ปรากฏหาไม่พบ
พบเพียงแต่บรรพบุรุษสายนางยินดี ชินวัตร อยู่ที่ หมู่บ้านเหมย เมืองเหมยโจว มณฑลกวางตุ้ง เป็นจีนแคะ-ฮากกาเหมือนกับสายพ่อ ซึ่งก็ยังดี ดีกว่าไม่เจอเลยทั้งสายพ่อสายแม่ เฉพาะเรื่องราวของสายแม่ก็น่าสนใจทีเดียวเพราะบิดาของฝ่ายแม่ (ตาของทักษิณ) ชื่อ เจริญ ทุ่งซิ้ว ชื่อจีนว่า หวงฉวนเฉิง เคยถูกส่งตัวกลับไปเมืองจีน เรียกภาษาราชการคือ “เนรเทศ” ในยุคสงครามโลกที่จอมพลป.เข้มงวดกับคนที่มีพฤติกรรมฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ แล้วตาเจริญคนนี้ก็นำครอบครัวรวมถึงแม่ยินดีไปอยู่ที่โน่นด้วย ต่อมาค่อยวิ่งเต้นกลับมาในยุคจอมพลถนอม กิตติขจร
กลับมาที่ตระกูลคูกันต่อ...ประวัติของตระกูล คู-ชิว-ชินวัตร ตัดขาดสะดุดแค่ คูชุ่นเส็ง ขึ้นบกที่เมืองจันทน์สืบหาไกลขึ้นไปไม่ได้ และก็น่าสังเกตว่าไม่ได้บ่งบอกรายละเอียดของการประกอบอาชีพที่เมืองจันทบุรี
แปลกมากที่คนๆ หนึ่งปักหลักทำมาหากินยาวนานจนมีครอบครัวมีลูกหลายคนทุกคนก็ตามมาอยู่เชียงใหม่แต่ไม่มีใครถ่ายทอดต่อลูกหลานว่าการทำมาหากินที่จันทบุรีเป็นเช่นไรและเหตุใดจึงอพยพโยกย้ายจากมา
เป็นไปได้หรือไม่ว่าบรรพบุรุษเองก็ไม่อยากจะเปิดเผยให้กับลูกหลานได้ทราบ?
ยิ่งลักษณ์เคยไปพูดที่สมาคมหอการค้าไทย-จีนบอกว่า “คุณปู่ทวดของดิฉันเป็นคนจีนแคะ แซ่คู “คูชุนเส็ง” อาศัยอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง และได้เดินทางมาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ. 2403” (ซึ่งการตีความวิเคราะห์จากนี้ไปจะยึดพ.ศ.นี้ไว้ก่อนเป็นหลัก)
คูชุ่นเส็ง ออกจากเมืองจันทน์ราวปี 2451-2453 แสดงว่าเขาใช้ชีวิตที่บางกระจะ เมืองจันทน์ ราว 50 ปี !!! ไม่ปรากฏว่ามีประวัติชีวิตวัยหนุ่มของชุ่นเส็ง...โผล่มาอีกทีก็เป็นประวัติวัยแก่ไปเลย
ถ้านายเส็งแก่แดดตามผู้ใหญ่มาเมืองไทยตอนอายุ 10 ขวบ (เกิด2394) แสดงว่าตอนที่ตัดสินใจอพยพครอบครัวไปเชียงใหม่เมื่อปี 2454 ก็อายุ 60 ปีแล้ว และหากเดินทางมาไทยเมื่ออายุ 20 ปี แสดงว่าตอนไปเชียงใหม่ก็อายุปาเข้าไป 70 แล้ว !?
ถือว่าเป็นวัยที่แก่มากแล้วทีเดียวสำหรับการจะไปปักหลักสร้างเนื้อตัวใหม่ แล้วเชียงใหม่ในพ.ศ.นั้นไม่ได้ไปง่ายๆ ทางรถไฟยังไม่ได้สร้าง การเดินทางสะดวกที่สุดคือนั่งรถไฟไปปากน้ำโพ หรืออุตรดิตถ์ ลงเรือหางแมงป่องทวนน้ำขึ้นมา ทุลักทุเลไม่ใช่เล่น
อะไรล่ะที่เป็นแรงจูงใจ หรือไม่ก็แรงผลักดันให้ คูชุ่นเส็ง หอบลูกชายวัยรุ่นชื่อว่า เชียง และพี่น้องอีกสามคนมาเชียงใหม่
แรงจูงใจอันเป็นปัจจัยบวก เช่นช่องทางอาชีพร่ำรวยกว่า หรืออาจจะตั้งหลักในดินแดนของดอกไม้หอม ป่าสวย โรแมนติก
หรือแรงผลักดันอันเป็นปัจจัยด้านลบ ก็เช่น อยู่เมืองจันทน์ หรือต่อให้อยู่กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้แล้ว ! ต้องหนีไปไกลๆ ไปอยู่เมืองลาวเชียงใหม่ซะเลย
อะไรกันแน่ ? ที่ทำให้นายเส็งอายุปูนนั้นนำพาตระกูลคูเดินทางไกลมาเชียงใหม่
ยุคสมัยนั้นเชียงใหม่ถือเป็นดินแดนห่างไกลคนละวัฒนธรรมกับไทยภาคกลาง คนกรุงเทพจำนวนหนึ่งยังเรียกรวมว่าเมืองลาวอยู่เลย ตอนที่ตั้งมณฑลเทศาภิบาลยุคแรกๆ เรียกว่ามณฑลลาวเฉียง แล้วค่อยเปลี่ยนเป็น มณฑลพายัพ เจ้าดารารัศมีไปอยู่กรุงเทพฯ ถูกเรียกว่าเจ้าลาว
เชียงใหม่ในพ.ศ. 2554 กำลังเป็นเมืองเปิดที่คึกคักทีเดียว เพราะศูนย์อำนาจกรุงเทพฯ ส่งข้าราชการอำมาตย์ต่างพระกรรณ กองทหารไปอยู่นานพอสมควรที่จะกลมกลืนพอไปด้วยกันได้กับอำนาจเดิมซึ่งอยู่ที่เจ้าหลวงผู้ครองนคร คนต่างถิ่นจะอยู่ริมแม่น้ำปิงฝั่งตะวันออกแถววัดเกตุ คนฝรั่งต่างชาติทำไม้ก็อยู่ฝั่งเดียวกันนั้นบริเวณที่เป็นเชิงสะพานนวรัฐมีโบสถ์คริสต์ ก่อนนั้นเป็นที่ตั้งของบริษัททำไม้บอมเบย์เบอร์ม่ากับอีสต์เอเชียติก มีช่องทางขยับขยายร่ำรวยต่อได้
หากมองในแง่ดีอันแรกนี้เป็นแรงจูงใจให้โยกย้าย
ส่วนในอีกทฤษฎีคือปัจจัยแรงผลัก...ไม่ได้อยากย้ายแต่จำเป็นต้องย้าย
คูชุ่นเส็งวัยกว่าหกสิบ-เจ็ดสิบ อพยพหนีภัยความขัดแย้ง (หรือไม่ก็ภัยจากคดีความก็ไม่รู้แน่) แรกเริ่มอพยพออกจากจันทบุรีไปอยู่กรุงเทพแถวตลาดน้อยราวปีสองปี นายเชียงได้ประโยชน์จากการมาอยู่กรุงเทพเพราะได้เข้าเรียนที่อัสสัมชัญอยู่ช่วงหนึ่ง แต่เรียนยังไม่จบผู้เป็นพ่อคือ คูชุ่นเส็ง ก็ให้ออกแล้วก็หอบครอบครัวมุ่งเหนือไปเผชิญโชคเอาดาบหน้า
ความที่เผยแพร่มาก่อนหน้านี้ก็คือมีการชี้ไปว่า คูชุ่นเส็ง เป็นอั้งยี่เมืองจันทน์?
ต่อมาเกิดมีเรื่องราวกับผู้พิพากษาของสยามถึงขนาดชกต่อยทำร้ายร่างกาย จึงเป็นสาเหตุของการตัดสินใจย้ายครัวเดินทางไปไกล และปกปิดชีวิตประวัติในช่วงก่อนหน้าเมื่อมาปักหลักที่เชียงใหม่แล้ว
ผู้เขียนเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งกับข้อสันนิษฐานนี้และเคยเขียนบทความต่อเนื่องชื่อว่า แกะรอย: ต้นตระกูลชินวัตรเป็นอั้งยี่จริงหรือ ? ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2 ให้รายละเอียดไว้พอสมควร
จะเป็นหัวหน้าอั้งยี่หรือไม่ได้เป็นนั่นค่อยว่ากันต่อแต่ที่แน่ๆ ก็คือ การปักหลักรากฐานชีวิตประกอบอาชีพทำมาค้าขายในระยะแรกที่เมืองจันทบุรีถือว่า “ล้มเหลว” ก็ว่าได้ เพราะหากมีปึกแผ่นมั่นคงแล้วก็คงไม่คิดอพยพหรอก
มันจึงยังมีข้อมูลแง่มุมและเรื่องราวประกอบที่ชวน “ตีความ” เพิ่มเติมหลายเรื่องหลายประเด็น
ในตอนต่อจากนี้จะวิสัชชากันเรื่องตระกูลคู กับ กระแสข่าวพัวพันแก๊งอั้งยี่รวมถึงประวัติของตระกูลคู-ชินวัตร ในแง่มุมที่ไม่ค่อยมีคนกล่าวถึงกันจึงขอใช้ชื่อซีรีส์บทความชุดนี้ว่า ตำนานตระกูลชิน ฉบับตีความ ที่ค่อนข้างยาวพอสมควร-โปรดติดตามตอนต่อไป.
ตอน: จีนเส็ง กับอั้งยี่งี่เฮง (ตอน 2)
เรื่องที่จะมา “วิสัชนา” กันนี้...อยู่ในระหว่างพ.ศ.2403-2451 ซึ่งมันก็ร้อยกว่าปีมาแล้วอาจจะปะติดปะต่อภาพไม่ออกดังนั้นจะเริ่มด้วยการขอพาท่านนั่งไทม์แมชชีนกลับไป... ฉายสภาพแวดล้อมของเมืองจันทบุรีในตอนนั้นก่อนว่าเป็นเช่นไร
ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมาสยามประเทศก็เริ่มจะหวาดระแวงระแวดระวังภัยจากฝรั่งแบบไม่วางตา เพื่อนบ้านญวน พม่า ทยอยลาโลกกลายเป็นเมืองขึ้นฝรั่งกันทีละรายๆ ไป จีนเองก็ประสบภัยฝรั่งโลกาภิวัตน์ยุคแรกเช่นกันฝรั่งแย่งกันรุมทึ้งเกิดสงครามฝิ่นกับอังกฤษเท่านั้นยังไม่พอเกิดมีขบวนการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ชิงหางเปียจักรพรรดิที่โลกลืมนั่นล่ะ ผู้นำของขบวนการชื่อว่า ดร.ซุนยัดเซน เดินทางไปทั่วทุกทวีปเพื่อหาทุนจากคนจีนโพ้นทะเลแล้วต่อมาก็มี ปฏิวัติซินไห่ มีจลาจลและการสู้รบกันวุ่นวาย
คนจีนชายทะเลภาคใต้แถวกวางตุ้ง ฟูเจี้ยนอพยพหนีภัยฝรั่ง ตลอดถึงภัยจากการปฏิวัติเปลี่ยนประเทศทยอยอพยพมาตั้งแต่รัชกาลที่ 3 แล้ว เมืองจันทน์ เมืองชล แปดริ้วก็เป็นแหล่งสำคัญหนึ่ง
ระบบที่สยามประเทศจัดการผู้อพยพจีนสมัยก่อนไม่มีอะไรซับซ้อนแค่ให้ตั้ง “นาย” ของคนจีนกำกับดูแลกันเอง รัฐสยามเพียงเก็บภาษีเรียกว่าผูกปี้ เอาด้ายแดงหยอดครั่งประทับตราที่ข้อมือหมายให้รู้ว่าจีนคนนี้จ่ายภาษีแล้ว ปี้จึงเป็นทั้ง VISA และ Work Permit อยู่ในประเทศได้ (ไม่เข้าใจว่ายุคต่อมาคำว่า "ปี้" กลายเป็นอีกความหมายได้ไง 5555)
ภาษีผูกปี้ตัวนี้แรกๆ เก็บแค่ 6 สลึง/3 ปี แล้วก็ขึ้นมาเรื่อยๆ จนเป็น 4 บาท คนจีนบางเหล่าเลยมีคำติดปากว่า “ภาษี4บาท” กันอยู่แล้วก็ใช้กับทั่วประเทศด้วย อย่างพวกฮ่ออิสลามที่มาอยู่เชียงใหม่ก็ต้องจ่ายภาษี 4 บาทตัวนี้เหมือนกัน
ระบบการจัดการคนจีนแตกต่างจากระบบคนไทยสยามเพราะตอนนั้นยังใช้ระบบไพร่อยู่ ต่อมารัชกาลที่ 5 เลิกระบบไพร่ปฏิรูปใหญ่ทั้งรวมและกระชับอำนาจเข้าที่ส่วนกลาง แต่ในการปกครองคนจีนก็ยังไม่เกี่ยวข้องกับประชากรไทย สมัยก่อนคนจีนให้ขึ้นกับกรมท่าซ้าย มีพระยาโชฎึกราชเศรษฐี ก็พวกเชื้อสายจีนดูแลกันเอง (ท่าขวา พวกอิสลาม ดูพวกแขกฝรั่ง) พอเปลี่ยนมาเป็นกระทรวงเขาก็ย้ายจากท่าซ้ายมาให้ นครบาลดูแล เพราะจีนที่เยาวราชมีค่อนพระนคร
ดร.ซุนยัดเซน ก็เคยมาเยาวราช มาหาเงินใช้แล้วจัดตั้งเครือข่ายโพ้นทะเลล้มชิง จากนั้นก็ไปที่ปีนังบ้างสิงคโปร์บ้าง...พวกนี้จะโค่นการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ราชสำนักมองชาวจีนด้วยสายตาที่ค่อนข้างระมัดระวัง.. เวลาพูดถึงคนจีนเมื่อร้อยปีก่อน ต้องใช้สายตาในการมองที่ต่างไปจากยุคนี้ หากต้องการจะเข้าใจอาก๋งคูชุ่นเส็งอั้งยี่เมืองจันทน์ เราต้องเข้าใจสภาพของยุคสมัยเสียก่อน
ชาวจีนมาถึงเมืองไทยก็ต้องอาศัยเครือข่ายคนอยู่ก่อน มาเข้ากับกงสีช่วยเหลือดูแลกัน แต้จิ๋ว ไหหลำ ฮกเกี้ยน แคะ ต่างก็มีชมรมของตน รัฐบาลสยามไม่ชอบให้ตั้งสมาคม แต่ความจำเป็นยังไงมันก็ต้องมี เพราะคนมันต้องพึ่งพากัน
ดังนั้นเวลาที่คนไทยเรียก อั้งยี่ ก็ต้องระวัง เพราะความหมายเดิมๆ คือสมาคมที่รวมตัวช่วยเหลือเกื้อกูล ปกป้องดูแล ถ้าใครมารังแกก็ยกพวกเลียะพะกันแบบอหิงสวนเล็กๆ ความหมายของอั้งยี่ ถูกแปรให้เป็นด้านลบเพราะไปรวมกับซ่องโจร ทั้งๆ ที่บางกลุ่มสมาคมไม่ได้อันธพาลระรานอะไรใครก็มี
งี่เฮง-ที่บางกะจะ กับ งี่ฮก-ที่เมืองจันทน์สองก๊กนี้ที่คนไทยเรียก “อั้งยี่” แรกๆ ก็คือกลุ่มเหล่าสมาคมของจีนโพ้นทะเลนั่นแหละ รวมตัวกันเข้าๆ ก็ชักเขม่น เหยียบตาปลา ผลประโยชน์ทับซ้อนกัน อันนี้เป็นเรื่องปกติ คูชุ่นเส็ง หนีภาวะของการรวมกลุ่มไม่ได้หรอก คนอะไรมาถึงไม่มีพวกพ้องเลย ก็ต้องอยู่ในกลุ่มสมาคมใดสักกลุ่ม ซึ่งต่อมาก็คืองี่เฮง แห่งบางกะจะนี่เอง
บังเอิญอย่างร้ายกาจที่หัวหน้าของอั้งยี่ก๊กงี่เฮง ชื่อ จีนเสง หรือ จีนเส็ง ซึ่งอาจจะใช้เส็ง แซ่คู หรืออาจไม่ใช่ก็ได้
ในยุคนั้นยังไม่มีพระราชบัญญัตินามสกุล เวลาทางการเรียกก็จะเขียนเรียก จีนฮก จีนโป๊ะ จีนเปง จีนฮวด จีนเสง ...ก็ว่าไป ชื่อซ้ำกันก็มี ผมเคยพยายามหาชื่อจีนชุ่นเส็งจากราชกิจจานุเบกษาเวลาที่มีใบบอกไปยังส่วนกลาง ก็ไม่พบ อันนี้เขียนไว้ในบทความแล้วจะไม่เล่าซ้ำ (คลิกอ่าน ตอน 2)
คนจีนที่อพยพมามากมายยุคนั้นก็คล้ายกับนักท่องเที่ยวจีนที่มาเชียงใหม่ยุคนี้...มันคงมั่วอีเหละเขละขละจัดระเบียบกันไม่ลงตัว ตั้งแต่พ.ศ.2390 กว่าๆ เรื่อยมาจนถึง 2420 เป็นยุคที่เกิดปรากฏการณ์ “กบฏ” อั้งยี่มากมายที่ภูเก็ตเอยที่แปดริ้วเอย ในกรุงเทพก็มีจลาจลจากคนจีน ไอ้คำว่ากบฏในสมัยนั้นก็คงหมายถึงพวกที่ไม่ยอมรับอำนาจ ของ“ข้าราชการ” ที่ไปปกครอง สั่งไม่ได้ ไม่ยอมเชื่อ กำเริบ ไปจนถึงขั้นปล้นชิง คงไม่ใช่รวมกลุ่มกันเพื่อยึดอำนาจอธิปไตยจากผู้ปกครองไม่ .....
การไม่เคารพเชื่อฟัง ยกพวกปล้นในยุคนั้นก็เรียก “กบฏ” แล้ว ดังนั้นเวลาบอกว่าอั้งยี่ก่อกบฏก็คือมันไม่เชื่ออำนาจรัฐที่ผ่านข้าราชการผู้ปกครอง นะเว้ยเฮ้ย ต่างจากปัจจุบันเล็กน้อยตรงที่เรียกคนเป่านกหวีดเรียกร้องไม่เอาคนโกงก็เป็นกบฏ อิอิ
ภาพลักษณ์ของคนจีน และการรวมกลุ่มของคนจีนในยุคสมัยนั้นจึงไม่ดีเอาเสียเลยในสายตาของรัฐสยาม อันนี้ต้องว่ากันตรงๆ ตามเนื้อผ้า
นอกจากปัจจัยเรื่องเมืองจีนมีปัญหาคนอพยพออกมาแล้ว สภาพที่มีผลต่อชีวิตของ คูชุ่นเสง อีกประการคือ อำนาจของฝรั่งเศสมาเบียดเบียนบีฑาประเทศสยามของเรา
ฝรั่งเศสอยากได้ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงจากหลวงพระบางลงมาถึงพระตะบอง เสียมเรียบ ศรีโสภณ จนถึงเมืองตราดนั่นเทียว เรื่องนี้ต้องแยกมาเล่ากันอีกวาระหนึ่งเพราะมันยาวมาก เอาเป็นว่ามันวางแผนฮุบตั้งแต่เกิดศึกปราบฮ่อเมื่อต้นรัชกาลที่ 5 เลย แล้วต่อมาก็เกิดกรณี รศ.112 จุดหมุดหมายตรงนี้สำคัญเพราะเป็นข้ออ้างให้ฝรั่งเศสปล้นทั้งเงินและแผ่นดินเราไป
ฝรั่งเศสอ้างเหตุ รศ.112 เรียกร้องค่าเสียหายเลยทำหน้าซื่อมาตั้งกองทหารอยู่ที่เมืองจันทบุรี พ.ศ. 2436 เอาล่ะซี กลายเป็นว่าเมืองจันทน์ในระหว่าง 2436-2447 กลายเป็น หนึ่งประเทศสองระบบขึ้นมา นั่นคือ มีข้าราชการข้าหลวงของสยามปกครองอยู่ แล้วก็มีเขตพิเศษฝรั่งเศสปกครองอยู่ เอาทหารญวนเข้ามา ค่ายทหารของพวกนี้เป็นเขตที่คนไทยห้ามเข้าไปยุ่ง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจอธิปไตยจึงซับซ้อนอีรุงตุงนัง
ไพร่ฟ้าประชาชีเลยต้องอยู่กันแบบงงๆ เพราะมีนายใหญ่สองฝ่าย..นายฝรั่ง กับ นายสยาม
เรื่องฝรั่งเศสมาตั้งกำลังที่เมืองจันทน์ก็มีผลต่อชีวิตของ คูชุ่นเสง ด้วย เพราะตอนนั้นเขาเป็นหนุ่มฉกรรจ์วัย 30 กว่าปี ปัญหาก็คือไม่มีบันทึกบอกว่าคูชุ่นเส็งประกอบอาชีพอะไรที่นั่น ประวัติบางเล่มบอกว่าเป็นนายอากรที่เมืองจันทน์ด้วยซึ่งหากเป็นเช่นนั้นเมื่อฝรั่งเศสออกไปอำนาจของรัฐไทยมีมากขึ้น คูชุ่นเส็งน่าจะปักหลักอยู่ที่นั่นต่อได้อย่างดีด้วยซ้ำไป แต่นี่เล่นอพยพออกมาหลังจากฝรั่งเศสหมดอำนาจเป็นปรากฏการณ์ที่ต้องตีความต่อไปอีก
จึงขอตีความแบบกลางๆ ว่าคูชุ่นเส็ง ก็เป็นประชากรจีนในท้องถิ่นคนหนึ่งที่ทำมาหากินกันไปในระหว่างเขาควายอำนาจสยามกับอำนาจฝรั่งเศสนั่นแล
ในขณะนั้นรัฐบาลสยามอำนาจอ่อนแอลง กองกำลังตำรวจก็ไม่มี นี่เป็นบันทึกจากหลวงสาครฯ เลยที่บอกว่าไม่มีกองตระเวน แล้วมันจะเหลืออะไรรัฐไทย พวกคนจีนก็เลยต้องติดอาวุธดูแลกันเอง จัดการกันเอง บางเวลาก็เหยียบตาปลากันน่ะสิ
บทบาทของการรวมกลุ่มที่เรียกว่าอั้งยี่มันก็เลยชัดเจนขึ้น นี่เป็นสภาพบังคับ
จนเมื่อเกิดการทะเลาะกันมากขึ้นๆ คนอื่นๆ เขาก็เดือดร้อนนะสิ พวกที่พลอยถูกลูกหลงรับผลกระทบ พ่อค้าแม่ค้าไปขายของไม่ได้เอยอะไรเอยประกอบกับมีข่าวการลุกฮือของอั้งยี่ที่แปดริ้วเป็นเรื่องสะเทือนขวัญมาก เพราะที่แปดริ้วเหิมเกริมตกใจไปเผาเมืองปล้นเพชรพลอย (เอิ่มประวัติศาสตร์ไม่ได้บอกว่าเวลาเผาเมืองอั้งยี่สวมเสื้อสีอะไร) สยามจึงต้องส่งทหารจากกรุงเทพไปกระชับพื้นที่ปราบเสียเหี้ยน เลือดนองแปดริ้วคนไม่กล้ากินปลาบางปะกงอยู่หลายเดือนคิดดูโหดซะขนาดไหน
แต่อย่างไรก็ตาม แม้พฤติกรรมของอั้งยี่แปดริ้วโหดจริงหรือที่ภูเก็ตก็เหิมเกริมจริง แต่เมื่อได้อ่านพฤติกรรมของที่เมืองจันทน์ยังไม่เท่าไหร่ นี่พูดตรงๆ เพราะอ่านยังไงก็แค่ยกพวกตีกัน ยังไม่ใช่ระดับปล้นเมืองไล่ฆ่าข้าราชการ
แต่สำหรับรัฐสยามในยุคนั้นที่เจอข่าวอั้งยี่เหิมเกริมต่อเนื่องมาก่อนโดยเฉพาะที่แปดริ้วเมืองชลละแวกใกล้กัน... ไม่ไหวต้องเคลียร์ ชาวจีนเมืองจันทน์พรรคพวกของ คูชุ่นเสงจึงถูกปราบลงด้วยประการฉะนี้ และการปราบนั้นเป็นการขอกำลังของฝรั่งเศสทหารญวนไปปราบ เพราะกำลังฝ่ายไทยมีนิดเดียว แต่ก็นั่นเองเวลารายงานเข้ากรุงเทพต้องเขียนให้ดูองอาจมาดแมนสักหน่อยว่ายกกำลังไปปราบปรามทั้งที่จริงแค่กระทืบเท้าเรียกมามอบตัวก็คงจะราบคาบแล้ว
ด้วยเหตุที่จีนเมืองจันทน์ไม่ได้เหิมเกริมมากดังกล่าวนี้หัวหน้าอั้งยี่สองก๊กที่เมืองจันทน์จึงถูกปล่อยออกมาในเวลาต่อมา ติดคุกอยู่ไม่นาน
ถ้าสมมติ ง่วนเส็ง เป็นคนเดียวกับ เส็ง แซ่คู..เส็งก็ติดคุกอยู่เดี๋ยวเดียวด้วยเหตุดังที่วิสัชนามานั่นแล
คูชุ่นเส็ง ออกจากเมืองจันทน์มาอยู่กรุงเทพราวปี 2447-2448 คือหลังจากฝรั่งเศสออกไปแล้วด้วยสาเหตุใดไม่ปรากฏ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ เขาไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพที่เมืองจันทน์ ปักหลักสร้างเนื้อสร้างตัวไม่ได้เพราะหากมั่นคงดีแล้วจะอพยพไปทำไม
อยู่กรุงเทพฯ ที่ตลาดน้อย บางรัก 2-3 ปีระหว่างนั้นก็ไม่มีหลักฐานว่าประกอบอาชีพอะไรเป็นโล้เป็นพาย จนกระทั่งการตัดสินใจครั้งสำคัญเดินทางไกลไปเชียงใหม่ดินแดนอีกวัฒนธรรมหนึ่งที่ห่างไกลเหลือเกินในสมัยนั้น
เหตุการณ์ช่วงนี้บ่งบอกว่า ตระกูลคู ยังไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตและการงานในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคกลางของประเทศ
ระยะเวลาช่วงแรก พ.ศ.2403-2450 จึงเหมือนสูญเปล่า
การไปเชียงใหม่มาพร้อมกับความคิดเรื่องการปักหลัก-สร้างเนื้อสร้างตัวให้มั่นคงใหม่อีกครั้ง.
(โปรดติดตามตอนต่อไป ตอน: เส้นสายอำนาจรัฐที่เชียงใหม่)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น