กินฝึกจิต วิ่งฟิตกาย เทรนด์สุขภาพดีมีสมาธิ/สูตรยารักษาเบาหวาน ความดัน ฯลฯ
ประโยชน์ของการฝึกสมาธิเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางว่าให้คุณมากมาย ทำให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย มีสติรับรู้ ปลอด โปร่ง และที่สำคัญ คือ ช่วยลดความเครียดได้ดี
แต่เมื่อนึกถึงคำว่า “การฝึกสมาธิ” แน่นอนว่าหลายคนจะนึกถึงการนั่งหลับตานิ่งๆ กำหนดลมหายใจเข้าออก หรือเดินจงกรมเพื่อฝึกฝนจิตใจ ในปัจจุบันมีการประยุกต์การทำสมาธิให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่มากขึ้น การฝึกสมาธิสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลาและไม่จำกัดว่าต้องอยู่แต่ในวัดอีกต่อไป
วิ่งสมาธิ กายเคลื่อนไหวใจต้องนิ่ง
ย้อนหลังไปเพียงไม่กี่ปี เมืองไทยมีนักวิ่งหน้าใหม่เกิดขึ้นจำนวนไม่น้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงของภาพยนตร์ไทยที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คนหนุ่มสาวหัน มาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ขณะที่กระแสวิ่งมาราธอนกำลังได้รับความสนใจ ก็มีการวิ่งแนวทางใหม่ๆ ออกมาให้ทำความรู้จัก เรียกว่า “วิ่งสมาธิ” ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนัก
สถาวร จันทร์ผ่องศรี อดีตนักวิ่งมาราธอนทีมชาติไทย และครูผู้สร้างนักวิ่งหน้าใหม่ อธิบายว่า การวิ่งสมาธิ เป็นการออกกำลังทางกายและออกกำลังทางจิตไปด้วยกัน ทำได้โดยวิ่งช้าๆ ไปพร้อมกับกำหนดจิตด้วยคำว่า “พุทโธ” หรือนับก้าว ซ้ายขวาซ้าย หรือวิ่งไปพร้อมกับสวดมนต์ตามบทสวดของแต่ละศาสนาพร้อมกับหายใจเข้าและหายใจออก
“ข้อดีของการวิ่งสมาธิแตกต่างจากการวิ่งทั่วไป ผลที่ดีต่อจิตใจที่เห็นได้ชัด คือ ผู้วิ่งสมาธิจะเกิดความสุข จิตใจสงบไม่ฟุ้งซ่าน อารมณ์สดชื่นแจ่มใส วิ่งได้นานขึ้น เหนื่อยล้าน้อยลง ส่วนผลทางกายที่เห็นได้ชัดก็คือ อัตราการเต้นของชีพจรลดลง หัวใจเต้นช้าลง ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ดีขึ้น”
เมื่อถามว่า นักวิ่งที่จะเริ่มต้นวิ่งสมาธิต้องเตรียมตัวอย่างไร อดีตนักวิ่งมาราธอนทีมชาติไทย แนะนำว่า การเตรียมความพร้อมสำหรับวิ่งสมาธิไม่ต่างจากการวิ่งออกกำลังกายทั่วไป คือ ต้องสวมใส่ชุดวิ่งที่สบาย ไม่รุ่มร่ามหรือรัดแน่นจนเกินไป สถานที่จะวิ่งควรเป็นพื้นที่เรียบ ไม่ขรุขระเป็นหลุมบ่อ หรือมีทางหักเลี้ยวบ่อยๆ ส่วนการสัญจรต้องไม่แออัด จอแจ ปราศจากยวดยาน
“คนที่ไม่ใช่นักวิ่งหรือเพิ่งเริ่มต้นวิ่งควรจะเริ่มฝึกวิ่งไปพร้อมกับ การฝึกสมาธิด้วยจะดีมาก นักวิ่งจะใช้ลมหายใจเข้าออกเป็นสมาธิรับรู้ถึงระดับความเหนื่อย เพื่อให้มีการวบคุมจังหวะการวิ่งให้เหมาะสมกับพลังงานที่มีอยู่ เวลาวิ่งควรเป็นช่วงอากาศเย็นสบาย ปลอดโปร่ง ซึ่งจะทำให้การวิ่งสมาธิเกิดผลที่ดีที่สุด อาจเป็นช่วงเช้าหรือเย็นก็ได้
ผู้วิ่งควรอบอุ่นร่างกายก่อนการวิ่ง และผ่อนคลายหลังการวิ่งทุกครั้ง ท่าทางการวิ่งไม่ฝืนเกร็งจากการวิ่งประจำวัน มือและเท้าเคลื่อนไหวสอดประสานกันให้สม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง และควรวิ่งอย่างน้อยวันละ 30 นาที ผู้ที่เริ่มใหม่จะใช้การเดินสลับกับการวิ่งด้วยก็ได้” ครูผู้สร้างนักวิ่งหน้าใหม่แนะ
กินสมาธิ ฝึกดีมีผอม
การฝึกสมาธิขณะรับประทานอาหาร หรือกินสมาธิ สำหรับเมืองไทยยังไม่เป็นที่นิยมนัก แต่ในสหรัฐและญี่ปุ่นกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยให้ผู้ฝึกมีสติ รับรู้ถึงความต้องการของร่างกายและจิตใจแล้ว ผลพลอยได้คือ ช่วยผ่อนคลายความเครียด ระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่ายทำงานได้ดี เนื่องจากกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กไม่ต้องทำงานหนัก เป็นวิธีช่วยลดความอ้วนได้อีกทางหนึ่ง
ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การฝึกสมาธิด้วยการกินต้องมีการฝึกฝน เช่นเดียวกับการทำสมาธิในแบบอื่นๆ กำหนดลมหายใจรูปแบบเดียวกับการฝึกโยคะ โดยก่อนจะกินอาหารแต่ละครั้งให้ผ่อนคลายอารมณ์ เลือกที่นั่งในที่สงบและไกลจากสิ่งรบกวน งดคุยโทรศัพท์มือถือ ดูทีวี หรือฟังวิทยุ เพื่อที่จะให้ความสนใจอาหารที่วางอยู่ตรงหน้า และวิเคราะห์ถึงคุณค่าและพลังงานที่จะได้รับจากอาหารที่กินเข้าไป
“การใช้อุปกรณ์การกินที่มีขนาดเล็กจะช่วยให้เราสามารถฝึกให้ร่างกายได้ รับอาหารที่ช้าลง คนญี่ปุ่นจึงฝึกสมาธิโดยใช้ตะเกียบกินอาหาร แต่เมืองไทยใช้ช้อนโต๊ะ เราซดน้ำแกง น้ำกะทิโดยไม่ได้พิจารณาอาหารก่อน นอกจากนี้ เราควรฝึกวางช้อนส้อมเมื่อตักอาหารหนึ่งคำ เพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย จากนั้นก็เคี้ยวอาหารอย่างช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียด รับรู้และพิจารณารสชาติและคุณค่าของอาหาร โดยในแต่ละคำควรจะเคี้ยวประมาณ 15-25 ครั้ง ก่อนที่จะกินคำใหม่” ดร.ฉัตรภา กล่าว และว่าผู้ที่เร่งรีบรับประทานอาหาร เคี้ยวอาหารไม่ละเอียดและกลืนเร็ว จะไม่รับรู้ถึงอาหารที่เข้าสู่ร่างกาย ทำให้ไม่รู้สึกอิ่ม และต้องการอาหารจำนวนมากโดยไม่จำเป็น ผลที่ตามมาคือ เกิดไขมันสะสมในร่างกาย และกลายเป็นคนอ้วนในเวลาต่อมา
ดร.ฉัตรภา อธิบายเพิ่มเติมว่า แม้หลายคนบอกว่าต้องเร่งรีบรับประทานอาหาร จึงไม่มีเวลาพิจารณาหรือทำสมาธิระหว่างมื้อ แต่เวลาที่เหมาะสมในการรับประทานอาหารแต่ละครั้งควรอยู่ระหว่าง 2030 นาที และหลังจากมื้ออาหารควรนั่งพัก 35 นาที เพราะจะช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น
“ถ้ามีเวลาน้อยก็ต้องลดปริมาณอาหารลงด้วย ไม่ควรอัดทุกสิ่งทุกอย่างลงไปในท้องเพราะหิว และกรณีที่เราเลือกอาหารไม่ได้ ก็ต้องรู้และพิจารณาอาหารในแต่ละมื้อว่าให้ประโยชน์อย่างไร และมื้อต่อไปเราควรรับประทานอะไรเพิ่มเติม เพื่อให้ร่างกายได้รับคุณค่าที่เหมาะสม” อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา กล่าวทิ้งท้าย
แม้ว่าหลักของการวิ่ง และกินสมาธิจะทำได้ไม่ยาก แต่ทั้งสองอย่างจะได้ผลดีก็ต่อเมื่อมีการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ผู้ฝึกจะต้องมีความตั้งใจจริงและมีวินัย เช่นนี้แล้วสุขภาพกายและสุขภาพจิตก็จะแข็งแรงและสดใสก็ไม่ไกลเกินเอื้อม
ที่มา : เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น