Kings of Thailand

ศึกสีจีวร! หรือผ้าเหลืองควรมีสีเดียว?

ศึกสีจีวร! หรือผ้าเหลืองควรมีสีเดียว?


หลังจากคำสั่งประกาศจากคณะสงฆ์ธรรมยุตเรื่องการถือครองผ้าไตรจีวรสีพระราชนิยม เกิดเป็นความขัดแย่งในหมู่สงฆ์ เมื่อพระสายอรัญวาสีหรือสายพระป่า และคณะสงฆ์หนเหนือประกาศยึดสีจีวรเดิมของตน
       
        กลายเป็นเหมือนระลอกคลื่นความขัดแย้งที่ซ้อนปมบางอย่างในหมู่คณะสงฆ์ที่ช่วงชิง
      
        ดร.สวัสดิ์ อโณทัย คณบดีคณะปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น ออกมาวิเคราะห์ว่า สิ่งนี้เปรียบเสมือนการชิงไหวชิงเชิงการเมืองในหมู่สงฆ์ กลายเป็นระลอกคลื่นความขัดแย้งที่แฝงมาในสีจีวรที่แตกต่าง จนสังคมเริ่มจับจ้อง เหตุใดสงฆ์ไทยจึงต้องแบ่งข้าง
      
        แม้ล่าสุด สมเด็จพระวันรัต รักษาการเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในฐานะรักษาการเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตจะบอกแล้วว่า ข้อบังคับดังกล่าวนั้นเน้นใช้เฉพาะกับพระสงฆ์ฝ่ายคามวาสี หรือพระเมืองเท่านั้น แต่การประกาศครั้งนี้ก็เป็นครั้งแรกๆที่สีจีวรดูจะมีความสำคัญขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญบางอย่าง!!
      
       สังฆภัณฑ์บริการ
      
        หลังจากประกาศการถือครองผ้าไตรจีวรโดยกำหนดให้ใช้สีเดียวกันคือ สีพระราชนิยมเพื่อให้มีความเรียบร้อยและเป็นอันหนึ่งอันเดียวของคณะสงฆ์ธรรมยุต จากแต่เดิมที่จีวรมีอยู่หลากหลายสี ทั้งสีเหลือง สีพระราชนิยมหรือพระราชทาน สีแก่นขนุน สีแก่นขนุนดำ และสีกรักดำ โดยแต่ละวัดก็มีการเลือกใส่ที่แตกต่างตามความเหมาะสมที่ต่างกัน
      
        ภัทรวดี ดุลย์ประภา อายุ 22 ปี เจ้าของร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์ (ร้านตังเส็ง) ในตัวอ.บางพลี จ.สมุทรปราการ บอกว่า ทางร้านจะมีขายทั้งเป็นชุดผ้าไตรจีวร และขายแยกเป็นจีวร สบง และผ้าอาบ ซึ่งมีอยู่ 3 สีด้วยกัน คือ สีเหลืองทอง สีราช (สีพระราชนิยม) และสีกรัก โดยสีจีวรที่คนส่วนใหญ่นิยมเลือกซื้อมากที่สุด จะเป็นเนื้อผ้าโทเรสีราช เพราะหลายวัดในระแวกใกล้เคียงจะนิยมใช้สีดังกล่าว ส่วนสีกรักจะมีคนซื้อไปถวายน้อยมาก
      
        ต่อกรณีที่จะมีเปลี่ยนสีจีวรของคณะธรรมยุตเป็นสีพระราชนิยมนั้น ภัทรวดี มองว่า ดี เพราะนอกจากจะช่วยให้พระสงฆ์ครองจีวรไปในสีเดียวกัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการรับกิจนิมนต์ต่างๆ แล้ว ยังช่วยสร้างความสะดวกให้แก่พุทธศาสนิกชนในการเลือกซื้อจีวร หรือชุดผ้าไตรจีวรอีกด้วย
      
        "ช่วยป้องกันในเรื่องของการซื้อผิดค่ะ เวลาที่พุทธศาสนิกชนจะซื้อไปถวายตามวัดต่างๆ เพราะบางท่านอาจไม่ได้ศึกษาหาข้อมูลมาก่อนว่าในแต่ละวัดจะใช้จีวรเป็นสีอะไร การเปลี่ยนเป็นสีเดียวกันก็น่าจะส่งผลดีตรงนี้ด้วย" เจ้าของร้านตังเส็งให้ความเห็น
      
        ดูเหมือนว่าหากมองในแง่ของศาสนิกชน คำประกาศใช้จีวรสีเดียวดูจะส่งผลให้เกิดความสะดวกในการจัดซื้อจีวรมาถวายเพื่อทำบุญอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตาม ศรีเพชร ศรีตุลยโชค อายุ 59 ปี เจ้าของร้านสิริมงคล ร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์ย่านตลาดนางเลิ้ง กลับให้ความเห็นที่ต่างออกไป
      
        โดยเธอให้ความเห็นกรณีให้พระสงฆ์คณะธรรมยุตเปลี่ยนสีจีวรจากสีกรักเป็นสีพระราชนิยมว่า ไม่ได้ส่งผลอะไร เพราะถึงแม้จะประกาศให้คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติใช้สีพระราชนิยม แต่ยังมีนิกายอื่นที่ใช้สีเหลืองทอง หรือสีกรักอยู่
      
        "ทางร้านจะขายเป็นชุดผ้าไตรจีวร และขายแยกเป็นจีวร มีทั้งสีเหลืองทอง สีพระราชนิยมขึ้นอยู่กับปัจจัยของผู้ซื้อว่าจะเลือกซื้อแบบไหน เพราะถ้าเป็นชุดผ้าไตรจีวร ราคาจะแพง อยู่ที่ประมาณ 1,000 กว่าบาท ถ้าเป็นจีวรอย่างเดียว ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 400 บาท แต่ถ้าจะให้ครบเซต ชุดผ้าไตรจะมีครบชุดค่ะ ทั้งจีวร สบง (ผ้านุ่ง) อังสะ (เสื้อ) ผ้าอาบ (ผ้าขาวม้า)" ศรีเพชร เจ้าของร้านสิริมงคลให้ข้อมูล
      
        อย่างไรก็ดี ในส่วนของร้านอื่นๆ จากการลงพื้นที่ของทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live พบว่า หลายๆ ร้านเห็นด้วยที่จะมีการเปลี่ยนสีจีวรให้เป็นสีเดียวกัน โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลไปในทิศทางเดียวกันว่า การครองจีวรสีเดียวกัน จะช่วยสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการออกไปรับกิจนิมนต์ แต่อาจจะมีปัญหาสำหรับจีวรสีอื่นๆ อย่างสีเหลืองทองที่บางร้านจะมีสต๊อกอยู่มาก ถ้ามีการเปลี่ยนสีจีวรเป็นสีพระราชนิยม อาจทำให้เสียรายได้ในส่วนนั้นไป
      
       แก่นแท้ที่จีวรห่อหุ้ม
      
        “ผ้าไตรจีวร” เป็นชื่อเรียกของผ้า 3 ผืนที่ใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มของพระสงฆ์ มีที่มาจากเมื่อครั้งเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช พบหลังฐานว่าได้ใช้ผ้านุ่งห่มที่เรียกว่า จีวร แต่ทว่าในยุคสมัยดังกล่าว ผ้าเป็นสิ่งที่หาได้ยาก พระภิกษุในยุคนั้นจึงใช้เศษผ้ามาเย็บติดกัน ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าเห็นผ้าจีวรที่ติดจากผ้าสี่เหลี่ยมผืนเล็กๆมาต่อกัน จึงเกิดเป็นจีวรลายคันนาออกแบบโดยพระอานนท์
      
        ต่อมาเกิดจีวรหลายประเภทขึ้น กระทั่งมีการกราบทูลถามถึงจีวรที่พระศาสดาอนุญาตซึ่งมีทั้งหมด 6 ชนิดด้วยกัน ประกอบด้วย จีวรทำจากเปลือกไม้ ทำด้วยไหม ทำด้วยฝ้าย ทำด้วยขนสัตว์ ทำด้านผ้าป่าน และทำด้วยเจือกัน และหลังจากพุทธศาสตร์เจริญรุ่งเรืองอีกหลายปีต่อมา เกิดนิกายของพุทธศาสนาขึ้นมากมาย สีของจีวรก็มีขึ้นตามความศรัทธาของแต่ละนิกาย ขณะที่ในประเทศไทยนั้นตามพระวินัยปิฎกก็มีระบุไว้ชัดเจนถึงสีจีวรว่าให้ใช้จากสีน้ำฝาดไม้แก่นขนุนย้อม
      
        ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสตร์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายถึงความเป็นมา เบื้องหลังที่หลายคนสนใจถึงความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นของความหลากหลายในสีจีวรที่เป็นในปัจจุบันว่า พุทธศาสนาในประเทศไทยเดิมได้รับอิทธิพลมาจากหลากหลากนิกาย แต่ไม่มีการแบ่งแยกชัดเจน มีลักษณะเกิดเป็นกลุ่มเป็นสำนักต่างๆที่ครูบาอาจารย์เป็นศูนย์กลาง
      
        “จริงๆพุทธศาสนาในประเทศไทย มันมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีสายต่างๆ อยู่แล้ว มีมาจากลังกา จากพม่าจากที่อื่นๆ แต่มันไม่ได้แบ่งชัดหากแต่เกิดเป็นกลุ่มของครูบาอาจารย์ ซึ่งการแบ่งว่ามาจากอาจารย์ท่านใด สายใครสายมันก็มีอยู่บ้างแต่ไม่ได้แบ่งกันชัดเจนจนแยกเป็นนิกาย
       
        “โดยสายหากจะมีการแบ่งก็จะแบ่งเป็นแบ่งเป็นคามวาสี - สายวัดป่าที่เน้นปฏิบัติธรรมกรรมฐานไป กับอรัญวาสี - วัดบ้านคือก็อ่านคัมภีร์เป็นหลัก ซึ่งก็ไม่ค่อยมีใครไปดูว่าต่างกันตรงไหนบ้างอาจจะต่างกันที่สีจีวรหรือเปล่า? หรือต่างกันแค่ว่า สายป่าเน้นปฏิบัติธรรม พระสายบ้านอ่านคัมภีร์เท่านั้น”
      
        ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิด “ธรรมยุต” กับ “มหานิกาย” นั้น เขาเผยว่ามาจากที่ในอดีตรัชกาลที่ 4 ท่านทรงเห็นว่าพระที่มีอยู่อาจจะไม่เคร่งวินัยนัก หลังจากที่บวชกับพระสายมอญกลายเป็นนิกายธรรมยุตในภายหลัง ขณะที่พระสายเดิมที่ไม่มีชื่อก็ถูกตั้งชื่อเรียกรวมๆ ว่า “มหานิกาย”
      
        “แต่เดิมรัชกาลที่ 4 ท่านอุปสมบทที่วัดมหาธาตุอยู่ พอท่านเจอพระมอญก็ไปบวชในสายนั้น มีชื่อเรียกว่ากัลยาณีวงศ์ ต่อมาสายนี้จึงกลายเป็นสายธรรมยุตขึ้นมา ขณะที่พระสายอื่นๆที่มีอยู่เดิมและหลากหลายก็ถูกเรียกรวมเป็น มหานิกาย
      
        “หลังจากนั้นสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ขึ้นมา มีกลุ่มเป็นทางการขึ้นมาเป็นสายโน่นสายนี้ ตอนหลังมาก็แบ่งตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เป็น 2 นิกายหลักคือ มหานิกายกับธรรมยุต”
      
        แต่แม้จะแบ่งพระออกเป็น 2 นิกาย ดร.ชาญณรงค์ ก็มองว่าทั้ง 2 นิกายไม่ได้มีข้อแตกต่างอะไรที่เด่นชัด ความต่างเป็นเพียงแค่เรื่องปลีกย่อยที่ไม่ใช่สาระสำคัญ
      
        “สายธรรมยุตอาจจะมีจารีตตามแบบที่สืบทอดมาจากกัลยาณีวงศ์ ส่วนมหานิกายก็จะความหลากหลายตามลักษณะที่มีอยู่เดิม ความต่างมันไม่ชัดเหมือนวัดป่ากับวัดบ้าน แล้วหลังๆ มานี้ นิกายธรรมยุตก็มีการรวมวัดป่าหลวงปู่มั่น หลวงพ่อเต๋า หลวงปู่ฝั้นซึ่งก็มีลักษณะต่างกันทีเดียว”
      
        เมื่อวัดป่ากับวัดบ้านที่แตกต่างกันก็มีอยู่ในทั้ง 2 นิกายในสายตาของดร.ชาญณรงค์ จึงไม่เห็นความต่างมากมายนักของทั้ง 2 นิกายนี้ ความต่างที่เห็นชัดอย่างเดียวอาจจะมีวิธีการห่มจีวรที่ต่างกัน โดยในส่วนของสีจีวรนั้น ในสังคมไทยปัจจุบันถือว่ามีความหลากหลายอยู่แล้ว
      
        “มันไม่ได้มีกฎตายตัว สายธรรมยุตมันก็จะคละกันไปอย่างวัดหาธาตุแต่เดิมก็สีทอง หลังมาก็เป็นสีกรัก แต่วัดอื่นอย่างวัดโพธิ์จะสีส้มทองๆ ตลอดไม่ค่อยเปลี่ยน ขณะที่ในต่างจังหวัดแถวภาคอีสานเขาอาจจะโอเค อยู่ๆ เปลี่ยนโดยที่ชอบใจ ชอบสี คือมันไม่ได้มีกฎอะไรที่บอกว่าต้องเปลี่ยน แต่บางวัดเห็นว่า มันรักษาความสะอาดง่ายหรือว่ามันดูเศร้าหมองดี แล้วแต่อุปนิสัยเจ้าอาวาสวัดแต่ละวัด เดี๋ยวนี้บางทีวัดเดียวกันใส่ 2 สีก็มี คือมันไม่ได้มีระเบียบอะไร ต้องบอกว่า นี่เป็นครั้งแรกที่เปลี่ยนสีมาใส่สีนี้”
      
        ข้อสังเกตหนึ่งของเขาคือ สีจีวรนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญมากนักโดยเฉพาะกับพระในพื้นที่ต่างจังหวัด ที่ดูจะจริงจังกับจีวรคงจะมีแต่พระที่อยู่ในภาคกลางและกรุงเทพฯ
      
        “บางภาคเขาอยากเปลี่ยนอะไรก็ตามใจเขา ที่ซีเรียสจะมีกรุงเทพฯและภาคกลาง ลักษณะการห่มมันต่างกัน ระหว่างธรรมยุตกับมหานิกายภาคกลาง สีก็จะต่างกันแต่ธรรมวินัยไม่ต่างกันเท่าไหร่ ที่ต่างกันเห็นชัดก็มีธรรมยุตเวลาไปสวดมีคนถวายเงินท่านจะไม่รับเงิน จะรับให้ใบปวารนา ส่วนมหานิกายไม่ต้องมีใบปวารณาก็ได้ไม่ค่อยสำคัญ”
      
       ในส่วนของประเด็นความขัดแย้งที่ล่าสุด สมเด็จพระวันรัตรักษาการเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารถึงขั้นต้องออกมาสยบกระแสลือลุกลามว่าอาจมีการเมืองในหมู่สงฆ์ เขาเห็นว่าระหว่าง ธรรมยุตกับมหานิกายนั้นความขัดแย้งยังอยู่ แต่ก็ต้องนับถอยไปนานกว่า 40 ปีแล้ว เรียกว่าเป็นความขัดแย้งของคนยุคเก่าก็ว่าได้
      
        “ตอนนี้ไม่มีแล้ว สมัยก่อนมันก็แรงอยู่ แต่มันเป็นความขัดแย้งของคนรุ่นเก่าที่ตอนนั้นก็ถึงขั้นมานั่งด่ากัน มานั่งวิจารณ์กันตลอด ถึงขนาดที่ว่าหลวงพ่อวัดหนึ่งบิณฑบาตรไปทะเลาะกับเณรที่อยู่คนละนิกายก็มี แต่สมัยนี้เป็นมิตรกันนะ”
      
        เขามองว่า หากระหว่างนิกายก็คงไม่มีปัญหาเพราะประกาศเรื่องสีจีวรนั้นมีผลเฉพาะกับนิกายธรรมยุตอย่างเดียว
      
        “ตอนมาร่วมราชพิธีเขาก็ไม่ได้ใช้สีเดียวกันอยู่แล้วครับ เป็นสีใครสีมัน ทางวังก็ไม่ได้ห้ามอะไร”
      
        อย่างไรก็ตาม เขาทิ้งท้ายว่า การเปลี่ยนสีจีวรนั้นไม่ได้มีสาระสำคัญใดๆต่อวงการสงฆ์ไทยมากนัก และคงไม่ได้ส่งผลให้พัฒนาไปในด้านใด
      
        “มันก็เปลี่ยนสีจีวรไม่ได้ทำให้อะไรเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นทั้งที่ปัญหาในวงการสงฆ์มันมีอีกเยอะ”
      
      

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Pong 11 (20x24)

Pong 11 (20x24)
Original handpainted oil painting on canvas

Wanna Yookong 111 (97x197cm)

Wanna Yookong 111 (97x197cm)
Original handpainted oil painting, Realistic Style

Kitja Noree 102 (24x36)

Kitja Noree 102 (24x36)
Original handpainted oil painting, Impressionist Style, Floating Market

Thawan Pramarn

Thawan Pramarn
ORIGINAL HANDPAINTED OIL PAINTING BY TAWAN PRAMAN, SIZE 70 x 90 cm

Chalor Ditpinyo

Chalor Ditpinyo
ORIGINAL HANDPAINTED OIL PAINTING BY CHALOR DITPINYO, SIZE 90 x 120 cm.

Thongchai Arunsaengsilp

Thongchai Arunsaengsilp
ORIGINAL HANDPAINTED OIL PAINTING BY THONGCHAI ARUNSAENGSILP

Boonchai Methangkul

Boonchai Methangkul
ORIGINAL HANDPAINTED OIL PAINTING BY BOONCHAI METHANGKUL, SIZE 1 x 126 cm

Chavana Boonchoo

Chavana Boonchoo
ORIGINAL HANDPAINTED OIL PAINTING BY CHAVANA BOONCHOO, SIZE 18 x 24"

Patamares Livisit

Patamares Livisit
ORIGINAL HANDPAINTED IMPRESSIONIST OIL PAINTING BY PATAMARES LIVISIT, SIZE 24 x 36"

Bangkok Art Center by HAS